วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิวัฒนาการของอักษรไทย



อักษรไทย เป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาไทย และภาษากลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศไทย มีพยัญชนะ 44 รูป สระ 21 รูป วรรณยุกต์ 4 รูป และเครื่องหมายอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง พยัญชนะไทยจะเรียงตัวไปตามแนวนอน จากซ้ายไปขวา ส่วนสระจะอยู่หน้า บน ล่าง และหลังพยัญชนะประกอบคำแล้วแต่ชนิดของสระ
อักษรไทยไม่มีการแยกอักษรตัวใหญ่หรืออักษรตัวเล็กอย่างอักษรโรมัน และไม่มีการเว้นวรรคระหว่างคำ เมื่อจบหนึ่งประโยคจะลงท้ายด้วยการเว้นวรรค กับมีเครื่องหมายวรรคตอนจำนวนหนึ่ง
ภาษาไทยมีตัวเลขเป็นของตัวเอง แต่นิยมใช้เลขอารบิกเป็นส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน วิวัฒนาการ
ราว พ.ศ. 400 ไทยได้อพยพจากถิ่นเดิมมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ใกล้อาณาเขตมอญ ซึ่งกำลังเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น เริ่มแรกคงเริ่มเลียนแบบตัวอักษรมาจากมอญ ต่อมาราว พ.ศ. 1500 เมื่อขอมขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนของคนไทยซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำยม และได้ปกครองเมืองเชรียงและเมืองสุโขทัย ไทยก็เริ่มดัดแปลงอักษรที่มีอยู่เดิมให้คล้ายกับอักษรขอมหวัด
อักษรมอญและอักษรขอมที่เรานำมาดัดแปลงใช้นั้นล้วนแปลงรูปมาจากอักษรพราหมี ของพวกพราหมณ์ซึ่งแพร่หลายในอินเดียตอนเหนือ และอักษรสันสกฤตในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งแพร่หลายบริเวณอินเดียตอนใต้ อักษรอินเดียทั้งคู่นี้ต่างก็รับแบบมาจากอักษรฟินิเชียนอีกชั้นหนึ่ง อักษรเฟนีเซียนับได้ว่าเป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นแม่แบบตัวอักษรของชาติต่างๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป
ราว พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทยที่เรียกกันว่า "ลายสือไทย" ขึ้น ซึ่งได้เค้ารูปจากอักษรอินเดียฝ่ายใต้ รวมทั้งอักษรมอญและเขมรที่มีอยู่เดิม (ซึ่งต่างก็ถ่ายแบบมาจากอักษรอินเดียฝ่ายใต้ทั้งสิ้น) ทำให้อักษรไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับอักษรทั้งสาม แม้บางตัวจะไม่คล้ายกัน แต่ก็สามารถรู้ได้ว่าดัดแปลงมาจากอักษรตัวไหน
อักษรไทยมีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ในสมัยพญาฦๅไทราว พ.ศ. 1900 มีการแก้ไขตัวอักษรให้ผิดเพี้ยนไปบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะการเพิ่มเชิงที่ตัว ญ ซึ่งใช้ติดต่อเรื่อยมาจนทุกวันนี้ คาดว่าน่าจะเอาอย่างมาจากเขมร ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ. 2223 ตัวอักษรเริ่มมีทรวดทรงดีขึ้นแต่ก็ไม่ทิ้งเค้าเดิม มีบางตัวเท่านั้นที่แก้ไขผิดไปจากเดิม คือตัว ฎ และ ธ ซึ่งเหมือนกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตัวอักษรและการใช้งานมีความคล้ายคลึงกับในปัจจุบันมากที่สุด


ที่มา : http://www.classifiedthai.com

พระราชบิดาแห่งอักษรไทย

กำเนิดแบบอักษรไทย  
     ท่านผู้รู้นักประวัติศาสตร์หลายท่าน คาดกันว่า เริ่มจากแบบอักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรขอม อักษรขอมนี้นำมาเขียนภาษาบาลี สันสกฤตได้สะดวก แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเห็นว่าการนำมาเขียนเป็นภาษาไทยนั้นไม่สะดวก เพราะไม่มีวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายกำหนดเสียงสูงต่ำและมีสระน้อย ไม่เพียงพอจะเขียนภาษาไทยได้ตามต้องการ  พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริแก้ไขแบบอักษรเสียใหม่ให้เป็นลักษณะอักษรไทย (ซึ่งถ้าสังเกตถ้อยคำในศิลาจารึก จะเห็นคำว่า "นี้" อยู่ต่อคำว่า "ลายสือ" ทุกแห่ง คงจะมีความหมายว่าตัวอักษรแบบนี้ยังไม่เคยมี)พระองค์ทรงแก้รูปตัวอักษรให้เขียนได้รวดเร็วกว่าอักษรขอม ทั้งสระและพยัญชนะก็จะเขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน   
     แม้ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะมิได้เป็นผู้ทรงประดิษฐ์รูปอักษรขึ้นโดยพระองค์เองก็ตาม การที่พระองค์ทรงแก้ไขตัวอักษรเสียใหม่ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น นับเป็นการสำคัญ เป็นการพัฒนาต่อยอดทางความคิด คือ การนำภูมิความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่เดิมในขณะนั้นมาพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม ให้มีความสะดวกในการจารึกและอ่าน อีกทั้งเสียงที่ใช้นั้นก็มีความครบถ้วนตามลักษณะเสียงที่ใช้ในภาษาไทยสิ่งนี้นับเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นวิวัฒนาการ อันทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางความรู้และวิทยาการในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพในเชิงภาษาศาสตร์และความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์     
     ครั้นล่วงรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว จะเป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัด มีผู้แก้ไขกลับไปใช้คุณลักษณะบางอย่างตามแบบหนังสือขอม ซึ่งมีสระอยู่ข้างหน้าพยัญชนะบ้าง อยู่ข้างหลังพยัญชนะบ้าง อย่างเช่นใช้ในแบบหนังสือไทยมาจนทุกวันนี้ 
     ตัวอักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดค้นขึ้นนี้ ได้มีผู้นำไปใช้กันแพร่หลายต่อไปในประเทศใกล้เคียงในสมัยนั้น เช่น ในล้านช้าง ล้านนา และประเทศข้างฝ่ายใต้ของอาณาจักรสุโขทัย คือ กรุงศรีอยุธยา   
ลักษณะของตัวอักษรไทย  



สระ ๒๐ ตัว

วรรณยุกต์ ๒ รูป  ตัวเลข ๖ ตัว

พยัญชนะ ๓๙ ตัว
     ท่านผู้รู้บางท่านได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอีกนัยหนึ่งว่า จากการดูที่เหตุผลแวดล้อม พยัญชนะไทยน่าจะมีครบทั้ง ๔๔ ตัวตั้งแต่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว ทางขอมได้ภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นครู มีพยัญชนะจำนวน ๓๓ ตัวเท่ากับภาษาบาลีพ่อขุนรามคำแหงได้แบบอย่างจากขอมและอินเดีย ครั้งแรกนั้นคงเป็นพยัญชนะ ๓๔ ตัว (ตัดนิคหิต ออก ๑ ตัว แต่พระองค์ได้นำมาใช้แทนตัว ม อย่างสันสกฤตและขอม) ต่อมาพระองค์อาจจะทรงคิดค้นเพิ่มเติมอีก ๑๐ ตัว ที่เรียกว่า "พยัญชนะเติม" เพื่อให้เสียงพอใช้ในภาษาไทย  
     พยัญชนะเติม ๑๐ ตัวคือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ จะเห็นว่าพยัญชนะเหล่านี้ได้เพิ่มเข้ามาจากพยัญชนะวรรคมีเสียงที่พ้องกัน เช่น 
                    ฃ พ้องเสียงกับ ข  
                    ฅ พ้องเสียงกับ ค   

     ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ตัวอักษรนี้คงออกเสียงเป็นคนละหน่วยเสียงกัน แต่ ฃ กับ ฅ คงจะออกเสียงได้ยากกว่า เราจึงรักษาเอาไว้ไม่ได้ มีอันต้องสูญไปอย่างน่าเสียดาย เหตุผลคือ ถ้าเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน พระองค์จะไม่ทรงคิดเสียงซ้ำกัน เช่นนั้น ฃ กับ ข และ ฅ กับ ค จึงน่าจะเป็นคนละหน่วยเสียงกันเช่นเดียวกับภาษาบาลี สันสกฤต ที่ออกเสียงพยัญชนะวรรคตะ ต่างกับเสียงพยัญชนะวรรคฏะ แต่เมื่อเรารับเข้ามาใช้ เราออกเสียงอย่างเขาไม่ได้ เราจึงออกเสียงเหมือนกัน เช่นเดียวกับ ตัว ส,ษ,ศ ก็เช่นเดียวกัน เขาออกเสียงต่างกันแต่เราออกเสียงเหมือนกันหมด เสียงใดที่ออกยากย่อมสูญได้ง่าย    
สิ่งที่น่าเป็นห่วง
    ตามคำกล่าวข้างต้น เสียงที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน เช่น
    เสียง "ร" เพราะออกเสียงได้ยากกว่าเสียง "ล" นักเรียนในปัจจุบันมักจะออกเสียง "ร" ไม่ค่อยได้เพราะต้องกระดกลิ้น  
    เสียง "ท" ที่ปัจจุบันมีผู้นิยมออกเป็นเสียง "ธ" ตามอย่างนักร้องที่มักออกเสียง "ท" เป็นเสียง "ธ" 
     ปัจจุบันนี้ เราหาผู้เชี่ยวชาญในการออกเสียงให้มีความชัดเจนแตกต่างจากกัน เพื่อเป็นผู้สอนการออกเสียงให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้ยาก จึงเป็นที่น่าห่วงว่าหากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์การออกเสียงเหล่านี้เอาไว้ สักวันหนึ่งเสียงต่างๆ เหล่านี้อาจจะสูญไปได้เช่นเดียวกัน 


ที่มา: http://www.lib.ru.ac.th

การเขียนโวหาร

      ขั้นตอนในการเตรียมตัวเขียน นอกจากจะต้องเตรียมข้อมูลจัดทำโครงเรื่องแล้ว ควรเลือกใช้สำนวนโวหารให้เหมาะกับเนื้อความที่ จะเขียน สำนวนโวหารในภาษาไทย แบ่งออกเป็น 5 คือ
1) บรรยายโวหาร
2) พรรณนาโวหาร
3) เทศนาโวหาร
4) สาธกโวหาร
5) อุปมาโวหาร
      1. บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหาร จะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้น ๆ ได้ความชัดเจนงานเขียนที่ควรใช้บรรยายโวหาร ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆเช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น
หลักการเขียนบรรยายโวหาร
      1) เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี โดยอาจรู้มาจากประสบการณ์ หรือการค้นคว้าก็ได้
      2) เลือกเขียนเฉพาะสาระสำคัญ ไม่เน้นรายละเอียด แต่เขียนตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม
      3) ใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย หากต้องการจะกล่าวให้ชัดอาจใช้อุปมาโวหารและสาธกโวหารเข้าช่วยได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนส่วน ที่เป็นสาระสำคัญกลายเป็นส่วนด้อยไป
      4) เรียบเรียงความคิดให้ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน
      2. พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติ
หลักการเขียนพรรณนาโวหาร
       1) ต้องใช้คำดี หมายถึง การเลือกสรรถ้อยคำ เพื่อให้สื่อความหมาย สื่อภาพ สื่ออารมณ์เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการบรรยาย ควรเลือกคำ ที่ให้ความหมายชัดเจน ทั้งอาจต้องเลือกให้เสียงคำสัมผัสกันเพื่อเกิดเสียงเสนาะอย่างสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ในงานร้อยกรอง
       2) ต้องมีใจความดี แม้จะพรรณนายืดยาว แต่ใจความต้องมุ่งให้เกิดภาพ และอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพรรณนา
       3) อาจต้องใช้อุปมาโวหาร คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน และมักใช้ศิลปะการใช้คำที่เรียกว่า ภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้พรรณนาโวหารเด่น ทั้งการใช้คำ และการใช้ภาพที่แจ่มแจ้ง อ่านแล้วเกิดจินตนาการและความรู้สึกคล้อยตาม
       4) ในบางกรณีอาจต้องใช้สาธกโวหารประกอบด้วย คือ การยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดภาพและอารมณ์เด่นชัดพรรณนาโวหารมักใช้กับการชมความงามอื่น ๆ เช่น ชมสถานที่ สรรเสริญบุคคล หรือใช้พรรณนาอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก เกลียด โกธร แค้น เศร้าสลด เป็นต้น
       3. เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามหรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่าน คิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร จึงยากกว่าโวหารที่กล่าวมาแล้วทั้ง 2 โวหาร เพราะต้องใช้กลวิธีในการชักจูงใจ
หลักการเขียนเทศนาโวหาร
       การเขียนเทศนาโวหารต้องใช้โวหารประเภทต่าง ๆ มาประกอบ กล่าวคือทั้งใช้บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร รวมทั้งอุปมาโวหาร และ สาธกโวหารด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ใจความชัดเจนแจ่มแจ้ง มีทั้งความหลักและความรองเป็นที่เข้าใจจนเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามผู้เขียน ไปได้หากเป็นการแสดงความคิดเห็นควรอธิบายทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และโทษ หรือแสดงเหตุและผลการเขียนเทศนาโวหาร ผู้เขียนต้อง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเป็นอย่างดี สามารถอธิบายอย่างชัดเจน ทั้งควรพรรณนาให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักใช้เหตุผล และหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นที่ตนเสนอด้วย การลำดับความให้สัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลจึงเป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการเขียนเทศนาโวหารโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า เทศนาโวหาร แปลว่า โวหารที่มุ่งสั่งสอน โดยตีความคำว่าเทศนา ว่าสั่งสอน ความจริงเทศนาในที่นี้ หมายถึง แสดง กล่าวคือ แสดงอย่างแจ่มแจ้งเพื่อให้เห็นคล้อยตาม รูปแบบงานเขียนที่ควรใช้เทศนาโวหารคือ งานเขียนประเภทบทความชักจูงใจ หรือบทความแสดงความคิดเห็น ความเรียง เป็นต้น
       4.สาธกโวหาร คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหารเช่นการเลือกยกตัวอย่างมีหลักที่ควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความ อาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหารหรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เป็นต้น ในการเขียนข้อเขียนต่าง ๆ นิสิตควรรู้จักเลือกใช้โวหารให้เหมาะกับจุดมุ่งหมายในการเขียนและเนื้อหาในบางโอกาส อาจต้องใช้โวหารหลายชนิดในงานเขียนชิ้นหนึ่งก็ได้ หลักสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส จุดมุ่งหมายและเขียนได้อย่างถูกต้อง ตามลักษณะโวหารนั้น ๆ
       5.อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าอุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหารใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใด



ที่มา :  http://www.kr.ac.th

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประวัติภาษาไทย

     ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของคนไทยมาแล้วช้านาน ถึงแม้คนไทยจะถูกชาติอื่นรุกราน ต้องถอยร่นลงมาทางใต้  จนถึงที่อยู่ปัจจุบัน แต่คนไทยก็ยังรักษาภาษาของตนไว้ได้ หลักฐานแสดงว่าภาษาไทยเป็นภาษาของ คนไทยโดยเฉพาะ ก็คือ ภาษาไทย มีลักษณะพิเศษไม่ซ้ำแบบของภาษาใดในโลก ที่มีผู้กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นตระกูลเดียวกับภาษาจีน เนื่องจากเป็นภาษาคำโดดด้วยกัน และมีคำพ้องเสียงและความหมายเหมือนกันอยู่หลายคำ เช่น ขา โต๊ะ เก้าอี้ เข่ง หรือ จำนวนเลข การที่ภาษาไทยกับภาษาจีนมีลักษณะตรงกันบางประการดังกล่าว  ใช่ว่าภาษาไทยมาจากจีนหรือจีนมาจากไทย แต่คงเป็นเพราะชาติไทยกับจีนเคยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดช้านาน และคงเคยใช้อักษรจีนเขียนภาษาไทย ภาษาไทยกับจีนจึงมีส่วนคล้ายคลึงกันได้ ข้อสังเกตที่ว่า ภาษาไทยกับจีนเป็นคนละภาษาต่างหาก จากกันก็คือ ระเบียบการเข้าประโยคต่างกัน เช่น คำวิเศษณ์ในภาษาไทยส่วนใหญ่ อยู่หลังคำที่ประกอบหรือขยาย ส่วนภาษาจีน ส่วนใหญ่อยู่ข้างหน้า
         
     เมื่อไทยอพยพลงมาอยู่ในแหลมทอง ต้องเกี่ยวข้องกับชนเจ้าของถิ่นหลายชาติหลายภาษา เช่น ขอม มอญ ละว้า พม่า มลายู ต่อมาได้ติดต่อกับประเทศอื่นๆ ทางการค้าขาย ศาสนา และวัฒนธรรม เช่น อินเดีย (บาลี สันสกฤต) ชวา เปอร์เซีย โปรตุเกส อังกฤษ เป็นต้น

     ภาษาของชาติต่างๆดังกล่าว จึงเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นอันมาก ภาษาต่างชาติที่ประสมอยู่ในภาษาไทยมากที่สุด คือ บาลีและสันสกฤต เรารับภาษาบาลีเข้ามาทางพุทธศาสนา และรับภาษาสันสกฤตทางศาสนาพราหมณ์ ภาษาอื่นที่เจืออยู่ในภาษาไทยมากรองลงมา คือ ภาษาขอม (เขมร) ทั้งนี้ เพราะขอมหรือเขมร เคยเป็นชาติที่มีอำนาจมากและนานที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน

ลักษณะของภาษาไทย
 วิวัฒนาการของภาษาไทย
      ภาษาไทยมีวิวัฒนาการเป็น ๒ สมัย คือ ภาษาไทยแท้ หรือภาษาไทยดั้งเดิม และภาษาไทยปัจจุบันหรือภาษาไทยประสม ภาษาไทยแท้ หรือ ภาษาไทยดั้งเดิม เป็นภาษาไทยก่อน อพยพเข้ามาอยู่ในสุวรรณภูมิ หรือ แหลมทอง
      ภาษาไทยปัจจุบัน หรือ ภาษาไทยประสม คือ ภาษาไทยนับตั้งแต่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสุวรรณภูมิแล้ว         
 ลักษณะภาษาไทยแท้
      ภาษาไทยแท้เป็นภาษาดั้งเดิมประจำชาติไทย  นับถอยหลังตั้งแต่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศจีน ปัจจุบันขึ้นไปเป็นภาษาในระยะที่ยังไม่ได้ เกี่ยวข้องกับชาติอื่นมากนัก ภาษาไทยมีลักษณะดังนี้

      คำส่วนมากเป็นคำโดด คือ คำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่ มือ แขน ช้าง ม้า ฯลฯ
      ไม่ค่อยมีคำควบกล้ำ
      คำขยาย อยู่ข้างหลังคำที่ถูกขยาย เช่น บ้านใหญ่    พูดมาก ดียิ่ง  คำที่เขียนตัวหนาเป็นคำขยาย
      ถ้าต้องการ สร้าง คำใหม่ ใช้วิธีรวมคำมูลเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดคำประสมขึ้น เช่น โรงเรียน แม่น้ำ พ่อตา
      ในการเขียน ใช้ตัวสะกดตรงตามมาตราแม่ กก ใช้ ก สะกด  แม่ กน ใช้ น สะกด แม่ กบ ใช้ บ สะกด เช่น นก กิน กบ
      ในการเขียน ไม่ใช้ตัวการันต์ คำทุกคำอ่านออกเสียงได้หมดทุกพยางค์
      ไม่มีหลักไวยกรณ์ คือ ระเบียบของภาษาแน่นอนเหมือนภาษาของบางชาติ เช่น บาลี สันสกฤต และอังกฤษ เป็นต้น กล่าวคือ ไม่มีระเบียบพิเศษเกี่ยวกับ พจน์ เพศ วิภัตติ ปัจจัย อุปสรรค กาล มาลา วาจก
     เป็นภาษามีเสียงดนตรี นิยมใช้ไม้วรรณยุกต์กำกับเสียง 
ลักษณะภาษาไทยปัจจุบัน
      เป็นภาษาไทยเริ่มตั้งแต่คนไทยย้ายถิ่นฐานลงมาอยู่ในแหลมทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งประเทศไทยทุกวันนี้ เมื่อไทยเข้ามาอยู่ในดินแดนแถบนี้ได้เกี่ยวข้องกับชนหลายชาติหลายภาษา ซึ่งมีระเบียบภาษาแตกต่างไปจากไทย ภาษาของต่างชาติที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือภาษาไทยปัจจุบัน คือ บาลี สันสกฤต เขมร ชวา มอญ จีน พม่า มลายู เปอร์เซีย และภาษาของชาติยุโรปบางภาษา เช่น โปรตุเกส และอังกฤษ เป็นต้น เมื่อภาษาไทยต้องเกี่ยวข้องกับภาษาของต่างชาติดังกล่าว ประกอบกับสถานะทางภูมิศาสตร์และเหตุการณ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ภาษาไทยปัจจุบันจึงมีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากคือ มีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นจากภาษาไทยแท้ดังนี้
      มีคำหลายพยางค์เพิ่มขึ้น
      มีคำควบกล้ำมากขึ้น
      มีการสร้างคำใหม่ตามวิธีการสมาส และสนธิของภาษาบาลีและสันสกฤต และตามวิธีแผลงคำตามอย่างภาษาเขมร
      ใช้ตัวสะกดไม่ค่อยตรงตามมาตรา ตามอย่างภาษาอื่น เช่น แม่ กก ใช้ ข ค ฆ สะกด แม่ กน ใช้ ญ ณ ร ล ฬ สะกด  แม่ กด ใช้ จ ช ฎ ฏ ฐ ฒ ต ถ ท ธ สะกดเพิ่มขึ้น
      มีตัวการัตน์เพิ่มขึ้น
ลักษณะเด่นของภาษาไทย
      ภาษาไทยไทม่ว่าจะเป็นภาษาไทยแท้ หรือ ภาษาไทยปัจจุบัน มีลักษณะเด่นผิดแผกจากลักษณะของภาษาบาลีสันสกฤต หรือ อังกฤษ ดังนี้
ภาษาไทยประกอบด้วยคำโดด มากกว่าภาษาบาลี สันสกฤต หรือ อังกฤษ เช่น
คำไทยบาลีอังกฤษ
พ่อปิตุ father
น้ำอุทกwater
ฟ้านภาsky

      ไม่มีหลักไวยกรณ์  เช่นเกี่ยวกับ ปัจจัย อุปสรรค กาล เพศ พจน์ ฯลฯ  แน่นอนอย่างภาษาบาลีสันสกฤต หรือ อังกฤษ คำไทยแท้ไม่มีการเปลี่ยนรูปคำโดยการลงปัจจัย เพื่อแสดงชนิดของคำ กาล เพศ พจน์ ฯลฯ ถ้าต้องการบอกชนิดของคำ ใช้คำมาเพิ่มข้างหน้า ถ้าต้อการบอก กาล เพศ พจน์ ใช้คำมาต่อข้างหน้าหรือข้างหลัง โดยไม่เปลี่ยนรูปคำเดิม เช่น
เดินกริยาการเดินนาม
ดีวิเศษณ์ความดี"
กินอยู่กาลสามัญปัจจุบันกินแล้วอดีตกาลสมบูรณ์
ช้างพลายเพศชายช้างพังเพศหญิง
เด็กคนเดียวเอกพจน์เด็กหลายคนพหูพจน์


      คำบาลีสันสกฤต หรือ อังกฤษ มีการเปลี่ยนรูปคำในตัวเพื่อแสดงหน้าที่กาล เพศ พจน์ ของคำ เช่น      ภาษาไทยเป็นภาษาเสียงดนตรี คือ เมื่อเสียงของคำสูงต่ำผิดไป ความหมายย่อมเปลี่ยนไปด้วย จึงจำต้องใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์กำกับคำไว้

      คา ข่า  ข้า  ค้า ขา มีความหมายแตกต่างกันแต่ละคำ
      ส่วนภาษาบาลีสันสกฤต หรือ อังกฤษ ไม่ใช่ภาษาเสียงดนตรี เมื่อเสียงคำเพี้ยนไปความหมายก็ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เต (เขาทั้งหลาย)  ถึงแม้จะออกเสียงเป็น เต่ เต้ เต๊ เต๋ หรือ  car  (รถยนต์) ออกเสียงเป็น คา ข่า ข้า ค้า ขา ก็คงมีความหมายเช่นเดิม

      คำขยายในภาษาไทย ส่วนมากอยู่ข้างหลังคำที่ถูกขยาย เช่น คนดี วิ่งเร็ว สูงมาก ส่วนคำภาษาอื่น เช่น บาลี สันสกฤต อังกฤษ หรือแม้แต่ภาษาจีน ซึ่งมัลักษณะคล้ายภาษาไทย ส่วนมากคำขยายอยู่ข้างหน้าตำที่มันขยาย  


ที่มา :  http://onknow.blogspot.com/2010/02/blog-post_8893.html

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันภาษาไทยแห่งชาติ

      รู้กันหรือไม่ว่าภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็มีวันที่ระลึกถึงภาษาไทยของเราด้วยเหมือนกัน โดยในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ประเทศไทยได้กำหนดให้เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

ความเป็นมา
      สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์,วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ 
      สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
      สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."
      นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"
      นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

       ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้นะคะเพื่อนๆ


ที่มา : http://hilight.kapook.com/view/26275

หลักภาษาไทย

                           
                            หลักภาษาไทย

อักขระวิธี ได้แก่ อักษร แปลว่า ตัวหนังสือ

เสียงในภาษาไทย มีอยู่ 3 อย่าง คือ
     1. เสียงแท้ ได้แก่ สระ
     2. เสียงแปร ได้แก่ พยัญชนะ
     3. เสียงดนตรี ได้แก่ วรรณยุกต์

สระ
      สระในภาษาไทย ประกอบด้วยรูปสระ 21 รูป และเสียงสระ 32 เสียง

พยัญชนะ
รูปพยัญชนะ มี 44 ตัว คือ
      1. อักษรสูง มี 11 ตัว คือ ข ข ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
      2. อักษรกลาง มี 9 ตัว ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
      3. อักษรต่ำ มี 24 ตัว คือ
       3.1 อักษรคู่ คืออักษรต่ำที่เป็นคู่กับอักษรสูง มี 14 ตัว คือ ค ค ฆ ช ฌ ซ ฑ ฒ ท ธ พ ภ ฟ ฮ
       3.2 อักษรเดี่ยว คืออักษรต่ำที่ไม่มีอักษรสูงเป็นคู่กัน มี 10 ตัว คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ

วรรณยุกต์
วรรณยุกต์ มี 4 รูป ได้แก่
      1. ไม้เอก
      2. ไม้โท
      3. ไม้ตรี
      4. ไม้จัตวา
เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มี 5 เสียง
      1. เสียงสามัญ คือเสียงกลาง ๆ เช่น กา มา ทา เป็น ชน
      2. เสียงเอก ก่า ข่า ป่า ดึก จมูก ตก หมด
      3. เสียงโท เช่น ก้า ค่า ลาก พราก กลิ้ง สร้าง
      4. เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ม้า ช้าง โน้ต มด
      5. เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา หมา หลิว สวย หาม ปิ๋ว จิ๋ว

คำเป็นคำตาย
      คำเป็น คือ คือเสียงที่ประสมทีฆสระ (สระเสียงยาว) ในแม่ ก กา เช่น กา กี กื กู
      คำตาย คือ คือเสียงที่ประสมรัสสระ (สระเสียงสั้น) ในแม่ ก กา เช่น กะ กิ กุ
      คำสนธิ คือ การต่อคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปให้ติดเนื่องกัน โดยมีการเพิ่มสระในแทรกระหว่างคำหรือเพิ่มคำเพื่อติดต่อกันให้สนิท เช่น
ปิตุ + อิศ เป็น ปิตุเรศ
ธนู + อาคม เป็น ธันวาคม
มหา + อิสี เป็น มเหสี
      คำสมาส คือ การนำคำประสมตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปให้เป็นคำเดียวคำที่ใช้นำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต เมื่อรวมกันแล้วความหมายเปลี่ยนไปก็มี, ความหมายคงเดิมก็มี เช่น
ราช + โอรส เป็น ราชโอรส
สุธา + รส เป็น สุธารส
คช + สาร เป็น คชสาร
      คำเป็น คือ พยางค์ทีประสมกับสระเสียงยาวในแม่ ก กา และพยางค์ที่มีตันสะกดใน แม่ กน กง กม เกย และสระ อำ ไอ ใอ เอา
      คำตาย คือ พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา กก กด กบ แต่ยกเว้นสระ อำ ไอ ใอ เอา



ที่มา : http://www.kroobannok.com/415

ภาษาวิบัติ ภาษาที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง


                       ภาษาวิบัติ หรือ ภาษาอุบัติ เป็นคำเรียกของการใช้ภาษาไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่ตรงกับกับภาษามาตรฐานตามหลักภาษาไทยในด้านการสะกดคำ คำว่า 'ภาษาวิบัติ' ใช้เรียกรวมถึงการเขียนที่สะกดผิดบ่อยรวมถึงการใช้คำศัพท์ใหม่หรือคำศัพท์ที่สะกดให้แปลกไปจากคำเดิม
        ในประเทศไทยมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาเด็กไทยขาดการศึกษารวมถึงปัญหาภาษาวิบัติทำให้เด็กไทย ไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในขณะเดียวกันได้มีการใช้คำว่าภาษาอุบัติแทนที่ภาษาวิบัติที่มีความหมายในเชิงลบ โดยภาษาอุบัติหมายถึงภาษาที่เกิดขึ้นมาใหม่ ตอบสนองวัฒนธรรมย่อย เช่นเดียวกับภาษาเฉพาะวงการที่เป็นศัพท์สแลงคำว่า "วิบัติ" มาจากภาษาบาลีมีความหมายถึง พินาศฉิบหาย หรือความเคลื่อนทำให้เสียหาย
ลักษณะและตัวอย่าง
สะกดผิดได้ง่าย 
       เป็นรูปแบบของคำที่มีการสะกดผิด ซึ่งเกิดจากคำที่มีการผันอักษรและเสียงไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์
สนุ๊กเกอร์ (สนุกเกอร์)
โน้ต (โน้ต)
คำที่สะกดผิดเพื่อให้แปลกตา 
นู๋ (หนู)
ชะมะ,ชิมิ (ใช่ไหม)
ว้าววว (ว้าว)
ป่าว (เปล่า)
เทอ (เธอ)
ชั้ล , ช้าน (ฉัน)
การลดรูปคำ 
เป็นรูปแบบของคำที่ลดรูปให้สั้นลง มีใช้ในภาษาพูด
มหาลัย หรือ มหา'ลัย (มหาวิทยาลัย)
วิดวะ (วิศวกรรม)
คำที่สะกดผิดเพื่อให้ตรงกับเสียงอ่าน 
ใช่ไหม → ใช่มั้ย
คำที่สะกดผิดเพื่อแสดงอารมณ์ 
ไม่ → ม่าย
ใช่ → ช่าย
ใคร → คราย
อะไร → อาราย
เป็นอะไร → เปงราย
ทำไม → ทามมาย
คำที่สะกดผิดเพื่อลดความหยาบของคำ 
หรืออาจใช้หลีกเลี่ยงการกรองคำหยาบของซอฟต์แวร์
กู → กรู
มึง → มรึง เมิง
ไอ้สัตว์ → ไอ้สาด
เราในฐานะประชาชนตนไทยจึงควรพูดและใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องนะคะ



ที่มา :  http://www.pm.ac.th/std_web/dex4/Sara/thaiproject.html